Blue Flower

ประวัติโรงเรียนดลวิทยา

ในภาษาฝรั่งเศสมีคำหนึ่งคือ L‘ esprit de Corps แปลว่า จิตวิญญาณของหมู่คณะ หรือ จิตตารมย์ในความภาคภูมิและเกียรตินิยมของสถาบัน เป็นจุดรวมน้ำใจของผู้คนในความเป็นอยู่หรืออาชีพเดียวกัน คำๆ นี้ คือปณิธานและจิตตารมย์ของคณะภารดาที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียลที่อาจารย์ดอลอ รุ่งเรือง มีความประทับใจตั้งแต่สมัยที่เป็นครูน้อยอยู่ที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล อาจารย์ดอลอ เห็นว่า ปณิธานดังกล่าวมีส่วนทำให้คณะภารดาทุ่มเทเอาใจใส่ต่อการศึกษาของเยาวชน ให้เยาวชนเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านวิชาการและด้านศีลธรรม อาจารย์ดอลอ จึงได้ยึดปณิธาณนี้เป็นหลักในการก่อตั้งโรงเรียนดลวิทยา ดังจะเห็นได้จากการที่อาจารย์ดอลอได้กล่าวไว้ในตอนหนึ่งที่ได้รับการบันทึกในหนังสืออนุสรณ์ของโรงเรียนปี 2532 ว่า "ผมจึงมีความคิดว่าหากวันหนึ่งได้มีโอกาสสร้างโรงเรียนขึ้น ก็จะดำเนินรอยตามและปณิธานและจิดตารมย์นี้"


อาจารย์ดอลอ ได้ก่อตั้งโรงเรียนดลวิทยาขึ้นและเริ่มเปิดภาคปีการศึกษาแรกเมื่อพุทธศักราช 2506 ที่ซอยจุลดิศ ถนนเพชรบุรี ประตูน้ำ โดยใช้ชื่อว่า โรงเรียนดลพิทยา สถานที่ตั้งของโรงเรียนในขณะนั้น เดิมเป็นที่ตั้งของโรงเรียนปัทมานุสรณ์ที่ได้โอนกิจการมาให้โรงเรียนดลพิทยา ในปีการศึกษาแรก โรงเรียนดลพิทยามีนักเรียนชั้น ป.1 - มศ.1 รวม 615 คน มีคณะครู 16 ท่านอันได้แก่

  1. อาจารย์ ดอลอ รุ่งเรือง
  2. มาสเตอร์ สมชาย ขมังดิษฐ์
  3. มาสเตอร์ นิกร แทนนิกร
  4. มาสเตอร์ กิ่ว วูวงศ์
  5. มาสเตอร์ คงศักดิ์ บูรณสมภพ
  6. มาสเตอร์ ชาย มั่นจิตดี
  7. มาสเตอร์ กมล โพธิกุล
  8. มาสเตอร์ ชาตรี แซ่ฮ่อ
  9. มาสเตอร์ ศักดิ์จิต ปื่นทองคำ
  10. มิส ประไพพิศ โกมารทัต
  11. มาสเตอร์ ศุภฤกษ์ บุลยเลิศ
  12. มิส อัญชลี เสมาวงศ์
  13. มิส วรรณศรี แสวงผล
  14. มาสเตอร์ เดชา ลาพุ่ม
  15. มิส เมตตา บุนนาค
  16. มิสเตอร์ ไมเคิล ไรท์


ครั้นมาถึงปลายปีการศึกษานั้นเอง ก็มีเหตุการณ์บีบบังคับให้ต้องหาสถานที่ตั้งของโรงเรียนแห่งใหม่ ท่านอาจารย์ดอลอ รุ่งเรือง จึงได้มาเช่าซื้อที่ในซอยศูนย์วิจัยจำนวน 5 ไร่ จากคหบดีผู้ใจบุญ คือ คุณผุส ปุ่นเอม และตั้งชื่อโรงเรียนในซอยศูนย์วิจัยนี้ว่า โรงเรียนดลวิทยา


เมื่อโรงเรียนดลวิทยา เปิดการเรียนการสอนที่ซอยศูนย์วิจัยครั้งแรก โรงเรียนประกอบด้วย อาคารเรียนขนาด 12 ห้องเรียน 1 หลัง, อาคารรับรองแขกขนาดเล็ก 1 หลัง และเรือนพักสำหรับนักเรียนประจำอีก 1 หลัง ด้วยลักษณะอาคารที่โรงเรียนมีในขณะนั้นทำให้โรงเรียนสามารถรองรับนักเรียนได้ไม่เกิน 765 คน


นักเรียนรุ่นแรกจำนวนกว่า 400 คนของโรงเรียนดลวิทยา เป็นนักเรียนชั้น ป.5 - ม.2 ที่มาจากโรงเรียนดลพิทยา ประตูน้ำ นักเรียนรุ่นนี้ถือเป็นนักเรียนรุ่นบุกเบิกของโรงเรียน เพราะในตอนนั้น ซอยศูนย์วิจัยมีสภาพเป็นท้องทุ่ง ถนนที่ตัดผ่านทุกสายก็เป็นถนนลูกรัง ไม่มีไฟฟ้าจากส่วนกลาง ทางโรงเรียนต้องใช้เครื่องปั่นไฟใช้เอง น้ำที่ใช้ก็ต้องขนส่งด้วยเป็นคันรถบรรทุก มีบ้านอาคารบ้านเรือนอยู่เพียง 3 หลัง คือ

  1. ตึกของศูนย์วิจัยและพัฒนาทางทหารของสถาบันวิจัยสแตนฟอร์ด ซึ่งเป็นโครงการร่วมมือทางการทหารระหว่าประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาเพื่อพัฒนาอาวุธที่ใช้ในการทำสงคราวเวียดนาม
  2. บ้านพักของคุณตระหนี่ วิเศษสุ
  3. อาคารเรียนของโรงเรียนดลวิทยา


ในปีพ.ศ. 2510 โรงเรียนได้ถมบ่อน้ำเพื่อสร้างอาคารเรียน 4 ชั้น ขนาด 24 ห้องเรียน อาคารเรียนหลังนี้ตั้งอยู่ด้านหน้าของโรงเรียน และมีชื่อว่า "ตึกแม่พระองค์อุปถัมภ์" เพราะมีเหตุการณ์หลายอย่างที่ทำให้เชื่อว่าการสร้างตึกสำเร็จลงได้ด้วยน้ำพระทัยของพระแม่มารีย์ พระมารดาของพระเยซูเจ้า ยกตัวอย่างเช่น ทางโรงเรียนได้รับอนุมัติงบประมาณจากธนาคารเพื่อการก่อสร้างอาคารเรียนหลังนี้ 2 แสนบาท แต่เมื่อเริ่มลงมือก่อสร้างก็พบปัญหางบประมาณบานปลาย โดยเงินกว่า 8 หมื่นบาทที่หมดไปสามารถทำได้เพียงการเริ่มตอกเสาเข็มของอาคารเรียนเท่านั้น อย่างไรก็ดีเนื่องจากคณะผู้ก่อตั้งโรงเรียนมีความไว้ใจและศรัทธาต่อพระแม่มารีย์มาโดยตลอด จึงได้วอนขอพระแม่ให้กิจการการก่อสร้างงอาคารเรียนหลังนี้และกิจการต่างๆของโรงเรียนสำเร็จลุล่วงไปได้


คณะผู้ก่อตั้งโรงเรียนเชื่อว่าด้วยน้ำพระทัยของพระแม่มารีย์ การก่อสร้างอาคารเรียนหลังนี้จึงได้ประสบความสำเร็จลงได้ในเวลา 2 ปี ทั้งนี้ ทางโรงเรียนได้รับความอนุเคราะห์จากผู้มีพระคุณหลายท่าน หนึ่งในนั้นคือ คุณผุส ปุ่นเอม (ขณะนั้นเป็นเจ้าของที่ดินที่ตั้งของโรงเรียน) คณะผู้ก่อตั้งของโรงเรียนยังมีความซาบซึ้งในน้ำใจของท่านเหล่านี้มาจวบจนถึงปัจจุบัน


ในปี พ.ศ. 2527 หลังจากที่โรงเรียนได้ก่อตั้งมาเป็นเวลา 21 ปี ทางเจ้าของที่ดินที่เป็นที่ตั้งของโรงเรียนดลพิทยา ประตูน้ำได้แสดงความจำนงขอนำที่ดินบริเวณนั้นไปก่อประโยชน์ในด้านอื่น นักเรียนโรงเรียนดลพิทยาจึงย้ายมาเรียนร่วมกับนักเรียนโรงเรียนดลวิทยา ทั้งนี้เพื่อรองรับจำนวนนักเรียนที่มีมากขึ้น โรงเรียนจึงทำการสร้างอาคารเรียนสูง 3 ชั้น รูปตัว U เพิ่มขึ้นอีก 1 หลัง โดยมาดามลิลลี่ รุ่งเรือง (ภริยาของอาจารย์ดอลอ รุ่งเรือง)เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารเรียนหลังนี้


ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2557 อาจารย์ดอลอ ได้โอนอำนาจการบริหารโรงเรียนในตำแหน่ง ผู้รับใบอนุญาต และผู้อำนวยการ ของโรงเรียนดลวิทยาให้แก่อาจารย์ดวงใจ (รุ่งเรือง) สุภาไวย์ เนื่องจากอาจารย์ดอลอมีอายุมากถึง 87 ปี และเริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพ ส่วนอาจารย์ดอลอ ได้เปลี่ยนบทบาทโดยการทำหน้าที่ในตำแหน่งผู้บริหารกิตติคุณของโรงเรียนจวบจนวาระสุดท้ายของท่านคือเมื่อวันอังคารที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2558 


ในปัจจุบัน โรงเรียนดลวิทยามีการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล 1 ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนได้ทำการพัฒนาอาคารและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นมาตามลำดับ จนมีความสามารถที่จะรองรับนักเรียนชาย-หญิงได้ถึง 2,000 คน อย่างไรก็ดี ถึงแม้สิ่งแวดล้อมของโรงเรียนจะได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าวันแรกที่โรงเรียนเริ่มเปิดการเรียนการสอนในหลายๆด้าน ความภาคภูมิใจของคณะครู คณะผู้บริหาร ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายของโรงเรียนไม่ได้อยู่ที่ความเจริญทางวัตถุ หากความภูมิใจล้วนอยู่ที่การได้มีส่วนสร้างให้ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันเป็นผู้ที่เจริญด้วยศีลธรรมและปัญญามากว่า 50 รุ่น สมดังปณิธานของ อาจารย์ดอลอ รุ่งเรือง ที่ตั้งไว้ก่อนทำการก่อตั้งโรงเรียนขึ้นว่า จะสร้างโรงเรียนที่ส่งเสริมด้านวิชาการและคุณธรรมให้กับเยาวชน